วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การสร้างกำลังใจในการทำความดี

การสร้างกำลังใจในการทำความดี

วิธีการสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นกับตัวเอง
ประการแรก ต้องหาต้นแบบในการทำความดีให้เจอ คำว่า “ต้นแบบในการทำความดี” หมายถึง ครูบาอาจารย์ที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้เราได้ลอกเลียน ทำให้เราได้ดู ได้เห็น พอเห็นแล้วก็จะเกิดกำลังใจว่า บุคคลที่ทำความดีแล้วได้ผลดีอย่างนั้นมีอยู่จริง ๆ เราก็จะอยากทำความดี เพราะฉะนั้นต้องหาแบบที่ดี ที่เก่ง

ประการที่ ๒ นึกถึงโทษของการทำความชั่ว คือ นึกไปว่าการทำความชั่วนั้นก่อให้เกิดผลเสียกับตัวของเราครอบครัวของเราอย่างไรบ้าง ก่อให้เกิดผลเสียกับสังคม ประเทศชาติ กับโลกของเราอย่างไร พอรู้อย่างนี้แล้วก็จะเกิดหิริโอตัปปะ คือ เกิดความละอายต่อการทำบาป ทำกรรม แล้วก็เกิดความเกรงกลัวในผลของกรรมที่เราจะทำไป ทำให้เลิกที่จะทำความชั่ว มีกำลังใจที่จะทำความดีนั้นต่อไป

             ประการที่ ๓ การทำตัวเราเองให้เข้มแข็งด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนาให้สม่ำเสมอ เพราะการปฏิบัติธรรมจะทำให้เราได้มองย้อนกลับมาฝึกตัวของเราเอง จะทำให้ใจของเรามาหยุดกับตัว เมื่อใจมาอยู่กับตัว มีโอกาสหยุดนิ่งอยู่ในแหล่งของปัญญาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อนั้นสติของเราก็จะกลายเป็นมหาสติ เป็นมหาปัญญา ทำให้สามารถพิจารณาสอดส่องมองดูตัวของเราได้อย่างชัดเจน พอรู้จักตัวเองชัดเจนก็จะเห็นข้อบกพร่องในตัวของตัวเองอย่างแจ่มชัดทีเดียว พอเห็นชัดอย่างนี้แล้ว กำลังใจในการทำความดีที่จะต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนามและความบกพร่องในตัวก็จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 


ถ้าทำได้ครบ ๓ ประการนี้ เชื่อว่ากำลังใจในการทำความดีจะก่อเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหน หรือประกอบกิจการงานอะไรก็ตาม เราจะมีกำลังใจในการทำความดีต่อไปจนตลอดชีวิต 
CR.พอจ.จุมพล

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เขาว่าวัดพระธรรมกายติดเปลือก?

เขาว่าวัดพระธรรมกายติดเปลือก? แท้จริงแล้วพุทธศาสนาในปัจจุบันจะประกอบด้วยศาสนวัตถุ (สิ่งก่อสร้าง), ศาสนาพิธี (พิธีกรรมต่างๆ), ศาสนาบุคคล (นักบวช), และศาสนาธรรม (คำสอน)   ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ทรงเปรียบเทียบเอาไว้ในมหาสาโรปมสูตร เหมือนกับการที่เราไปแสวงหาประโยชน์จากต้นไม้ใหญ่ ที่มีทั้งกิ่งและใบ สะเก็ด เปลือก กะพี้ และแก่น คือเราจะเลือกเอาอะไรจากสิ่งเหล่านี้ จึงจะทำให้เราได้รับประโยชน์ โดยสิ่งเหล่านี้ก็คือ



ความสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ จัดเป็นกิ่งและใบของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วยศีล จัดเป็นสะเก็ดของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ จัดเป็นปลือกของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วยสัมมาทิฎฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) จัดเป็นกะพี้ของศาสนา

ความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง (ถาวร) จัดเป็นแก่นของศาสนา


จากจุดนี้เราก็สามารถมองได้ว่าสังคมใดหรือใครเข้าถึงพุทธศาสนาในระดับใด   การที่วัดวาอารามเจริญรุ่งเรืองใหญ่โตนั้นเป็นกิ่งและใบของพุทธศาสนา   การที่วัดพระธรรมกายสร้างใหญ่โตขึ้นมาก็เพื่อรองรับสาธุชนที่เข้ามาแสวงหาธรรมะที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ


ธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ก็ต้องมีทั้งกิ่งและใบ, สะเก็ด, กะพี้, และแก่น จึงจะทำให้ต้นไม้นั้นดำรงอยู่ได้ หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะกิ่งและใบก็ช่วยสังเคราะห์แสงมีอาหารให้ต้นไม้ดำรงอยู่ได้ สะเก็ดก็ช่วยปกป้องเนื่อไม้ภายใน กระพี้มีหน้าที่ลำเลียงอาหารและน้ำ แก่นเป็นใจกลางต้นไม้ทำให้ต้นไม่ตั้งอยู่   ซึ่งพุทธศาสนาก็เหมือนกัน คือจะต้องมีทั้งลาภสักการะและเสียงสรรเสริญอยู่บ้าง, มีผู้ปฏิบัติศีลอย่างถูกต้องเคร่งครัด, มีผู้ปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจัง, มีผู้มีความเห็นถูกต้อง, และมีผู้หลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงอยู่  พุทธศาสนาจึงจะมั่นคงอยู่ได้


วัดพระธรรมกายจึงไม่ใช่แค่เปลือกตามที่หลายๆคนคิดกัน เพราะมีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมากมาย ก็เพื่อรองรับสาธุชนที่มาปฏิบัติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ 

คนที่จะปฏิบัติศีลอย่างถูกต้องเคร่งครัดก็มีจำนวนมาก  คนที่มาฝึกสมาธิจริงจังก็มีมาก และคนที่จะมีความเห็นถูกต้อง รวมทั้งคนที่ฝึกตนเพื่อความหลุดพ้นที่ถาวรก็มีจำนวนไม่น้อย วัดพระธรรมกายจึงเป็นต้นไม้ทั้งต้น จึงขอเชิญชวนผู้ที่ยังคลางแคลงใจ ในวัดพระธรรมกาย เข้ามาพิสูจน์ด้วยตา สัมผัสด้วยใจ ก่อนที่เวลาจะผ่านเลยไปอย่างไม่หวนกลับ