วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การสร้างกำลังใจในการทำความดี

การสร้างกำลังใจในการทำความดี

วิธีการสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นกับตัวเอง
ประการแรก ต้องหาต้นแบบในการทำความดีให้เจอ คำว่า “ต้นแบบในการทำความดี” หมายถึง ครูบาอาจารย์ที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้เราได้ลอกเลียน ทำให้เราได้ดู ได้เห็น พอเห็นแล้วก็จะเกิดกำลังใจว่า บุคคลที่ทำความดีแล้วได้ผลดีอย่างนั้นมีอยู่จริง ๆ เราก็จะอยากทำความดี เพราะฉะนั้นต้องหาแบบที่ดี ที่เก่ง

ประการที่ ๒ นึกถึงโทษของการทำความชั่ว คือ นึกไปว่าการทำความชั่วนั้นก่อให้เกิดผลเสียกับตัวของเราครอบครัวของเราอย่างไรบ้าง ก่อให้เกิดผลเสียกับสังคม ประเทศชาติ กับโลกของเราอย่างไร พอรู้อย่างนี้แล้วก็จะเกิดหิริโอตัปปะ คือ เกิดความละอายต่อการทำบาป ทำกรรม แล้วก็เกิดความเกรงกลัวในผลของกรรมที่เราจะทำไป ทำให้เลิกที่จะทำความชั่ว มีกำลังใจที่จะทำความดีนั้นต่อไป

             ประการที่ ๓ การทำตัวเราเองให้เข้มแข็งด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนาให้สม่ำเสมอ เพราะการปฏิบัติธรรมจะทำให้เราได้มองย้อนกลับมาฝึกตัวของเราเอง จะทำให้ใจของเรามาหยุดกับตัว เมื่อใจมาอยู่กับตัว มีโอกาสหยุดนิ่งอยู่ในแหล่งของปัญญาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อนั้นสติของเราก็จะกลายเป็นมหาสติ เป็นมหาปัญญา ทำให้สามารถพิจารณาสอดส่องมองดูตัวของเราได้อย่างชัดเจน พอรู้จักตัวเองชัดเจนก็จะเห็นข้อบกพร่องในตัวของตัวเองอย่างแจ่มชัดทีเดียว พอเห็นชัดอย่างนี้แล้ว กำลังใจในการทำความดีที่จะต่อสู้กับอุปสรรคขวากหนามและความบกพร่องในตัวก็จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 


ถ้าทำได้ครบ ๓ ประการนี้ เชื่อว่ากำลังใจในการทำความดีจะก่อเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหน หรือประกอบกิจการงานอะไรก็ตาม เราจะมีกำลังใจในการทำความดีต่อไปจนตลอดชีวิต 
CR.พอจ.จุมพล

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เขาว่าวัดพระธรรมกายติดเปลือก?

เขาว่าวัดพระธรรมกายติดเปลือก? แท้จริงแล้วพุทธศาสนาในปัจจุบันจะประกอบด้วยศาสนวัตถุ (สิ่งก่อสร้าง), ศาสนาพิธี (พิธีกรรมต่างๆ), ศาสนาบุคคล (นักบวช), และศาสนาธรรม (คำสอน)   ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ทรงเปรียบเทียบเอาไว้ในมหาสาโรปมสูตร เหมือนกับการที่เราไปแสวงหาประโยชน์จากต้นไม้ใหญ่ ที่มีทั้งกิ่งและใบ สะเก็ด เปลือก กะพี้ และแก่น คือเราจะเลือกเอาอะไรจากสิ่งเหล่านี้ จึงจะทำให้เราได้รับประโยชน์ โดยสิ่งเหล่านี้ก็คือ



ความสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ จัดเป็นกิ่งและใบของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วยศีล จัดเป็นสะเก็ดของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ จัดเป็นปลือกของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วยสัมมาทิฎฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) จัดเป็นกะพี้ของศาสนา

ความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง (ถาวร) จัดเป็นแก่นของศาสนา


จากจุดนี้เราก็สามารถมองได้ว่าสังคมใดหรือใครเข้าถึงพุทธศาสนาในระดับใด   การที่วัดวาอารามเจริญรุ่งเรืองใหญ่โตนั้นเป็นกิ่งและใบของพุทธศาสนา   การที่วัดพระธรรมกายสร้างใหญ่โตขึ้นมาก็เพื่อรองรับสาธุชนที่เข้ามาแสวงหาธรรมะที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ


ธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ก็ต้องมีทั้งกิ่งและใบ, สะเก็ด, กะพี้, และแก่น จึงจะทำให้ต้นไม้นั้นดำรงอยู่ได้ หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะกิ่งและใบก็ช่วยสังเคราะห์แสงมีอาหารให้ต้นไม้ดำรงอยู่ได้ สะเก็ดก็ช่วยปกป้องเนื่อไม้ภายใน กระพี้มีหน้าที่ลำเลียงอาหารและน้ำ แก่นเป็นใจกลางต้นไม้ทำให้ต้นไม่ตั้งอยู่   ซึ่งพุทธศาสนาก็เหมือนกัน คือจะต้องมีทั้งลาภสักการะและเสียงสรรเสริญอยู่บ้าง, มีผู้ปฏิบัติศีลอย่างถูกต้องเคร่งครัด, มีผู้ปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจัง, มีผู้มีความเห็นถูกต้อง, และมีผู้หลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงอยู่  พุทธศาสนาจึงจะมั่นคงอยู่ได้


วัดพระธรรมกายจึงไม่ใช่แค่เปลือกตามที่หลายๆคนคิดกัน เพราะมีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมากมาย ก็เพื่อรองรับสาธุชนที่มาปฏิบัติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ 

คนที่จะปฏิบัติศีลอย่างถูกต้องเคร่งครัดก็มีจำนวนมาก  คนที่มาฝึกสมาธิจริงจังก็มีมาก และคนที่จะมีความเห็นถูกต้อง รวมทั้งคนที่ฝึกตนเพื่อความหลุดพ้นที่ถาวรก็มีจำนวนไม่น้อย วัดพระธรรมกายจึงเป็นต้นไม้ทั้งต้น จึงขอเชิญชวนผู้ที่ยังคลางแคลงใจ ในวัดพระธรรมกาย เข้ามาพิสูจน์ด้วยตา สัมผัสด้วยใจ ก่อนที่เวลาจะผ่านเลยไปอย่างไม่หวนกลับ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

The better choice

The better choice
เนื้อร้อง  ตะวันธรรม / เมตตา สุวชิตะวงศ์ 
ทำนอง/เรียบเรียง  วิเนตร วัฑฒนะพงศ์
ขับร้อง  ปัญจสิขะคอรัส


Just be nice to one another.
Just we share the same philosophy about life.
This is the right way.
This is the right thing.
This is the right time.

There is no time to waste.
Just be nice to one another.
Just we share the same philosophy about life.
This is the better choice to be nice,


To be shared.
Before it’s too late.










ขอเพียงเราหันหน้าเข้าหากัน
เพียงเราคิดที่จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ

นี่แหล่ะเป็นวิธีที่ถูกต้อง
นี่แหล่ะคือสิ่งที่ถูกต้อง
นี่แหล่ะคือช่วงเวลาที่ดีที่สุด


ไม่มีเวลาในการสูญเสียอีกแล้ว
ขอเพียงเราหันหน้าเข้าหากัน
เพียงเราคิดที่จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ

นี่คือทางเลือกที่ดีกว่า ขอเพียงหันหน้าเข้าหากัน
ขอเพียงเกื้อกูลกัน

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป
ชมภาพเพิ่มเติมที่ Link
https://goo.gl/Q8jXkv

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

" กฎหมาย และ กฎแห่งกรรม ความยุติธรรม ที่ต้องไปด้วยกัน "

           
          เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559   คุณ ทันธรรม วงษ์ชื่น นักวิชาการอิสระ ด้านกฎหมายมหาชนได้เผยแพร่บทความเชิงวิชาการในโลกโซเชียลเน็ตเวอร์ค ในหัวข้อว่า.......
            จริงหรือไม่?? DSI ใช้ดุลพินิจทางฝ่ายปกครองที่ไม่เป็นธรรมละเมิดรัฐธรรมนูญ กรณีออกหมายเรียกพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย   โดยมีเนื้อความว่า.......     
          จากกรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การออกหมายจับตามที่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญานั้น ต้องคำนึงถึง  

มาตรา4 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 
ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณี
ระหว่างประเทศที่ประเทศไทย มีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ การวินิจฉัยและตัดสินใจใช้มาตรการบังคับทางปกครองในการออกหมายจับ จึงอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2550 

มาตรา 26 ซึ่งบัญญัติว่าการใช้อํานาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ 

มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดย คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้ง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และ การตีความกฎหมายทั้งปวง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 

มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า การจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กําหนดไว้และเท่าที่ จําเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
ซึ่งจากกรณีการที่พระธัมมชโย ได้มีอาการอาพาธอย่างเฉียบพลันและมีอาการที่ไม่สามารถปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้อย่างปกติซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพที่จะต้องได้รับ
การรักษาดูแลสุขภาพและร่างกายของตัวเองตามปกติที่วิญญูชน
พึงได้รับ และตามคำแนะนำของแพทย์ที่ให้การดูแลรักษา 
ดังนี้......หากมีคำสั่งให้ออกหมายเรียก ดังกล่าวจาก DSI ซึ่งได้เห็นเป็นประจักษ์ และมีใบรับรองแพทย์  รับรองอาการป่วยดังกล่าวที่ไม่ได้ดีขึ้น ตามคำขอเลื่อนหมายเรียกครั้งที่ 3 ของDSI 
หรือการร้องขอให้ศาลออกหมายจับ ทั้งที่ผู้ถูกออกหมายจับ 
ไม่ได้มีเจตนาหลบหนี ไม่ได้ทำให้คดียุ่งเหยิง และไม่ได้ก่อเหตุอันตรายประการอื่น  อีกทั้งยังมีเหตุอันควรในการที่ไม่ไปตามหมายเรียก 
แต่ยังคงไม่ได้นำสาระสำคัญดังกล่าวมาพิจารณาในการออกหมายจับได้ ทั้งที่เห็นเป็นประจักษ์อยู่แล้ว 
ถือเป็นการกระทำต่อมนุษย์ให้เหมือนสัตว์หรือสิ่งของอันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิในชีวิตและร่างกายซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้โดยชัดแจ้งอยู่แล้ว ว่ากฎหรือคำสั่งใดจะตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามที่รัฐธรรมนูญบัญัติไว้ จะละเมิดสาระสำคัญแห่งสิทธิไม่ได้ ตามมาตรา29 รัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบมาตรา 4 รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 


อีกทั้งเมื่อเป็นการออกคำสั่งจากหน่วยงานที่ใช้อำนาจจะต้องยึดหลักของการได้สัดส่วนในการออกกฎหรือคำสั่งด้วยดังนี้คือ ...

1.หลักความสัมฤทธิ์ผล ซึ่งในการออกหมายจับต้องเป็นการทำตามจุดประสงค์หรือตามเจตนารมณ์ของการออกหมายจับว่าเป็นการ ป้องกันไม่ไห้ผู้ถูกหมายจับหลบหนี หรือได้ทำให้เกิดความยุ่งเหยิงของคดี ซึ่งการออกหมายจับต้องกระทำให้สัมฤทธิ์ผลด้วยแต่การขอออกหมายจับพระธัมมชโยนั้นไม่ได้ทำให้สัมฤทธิ์ผลเพราะไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ตามเจตนารมณ์ของการออกหมายจับ  แต่มีความมุ่งหมายที่จะใช้มาตรการการออกหมายจับนั้นเป็นเครื่องมือในการดำเนินเพื่อให้เกิดผลอย่างอื่นนอกเหนือไปจากผลที่กฎหมายให้อำนาจ แก่ศาลประสงค์จะให้เกิดขึ้นจึงเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ

2.หลักความจำเป็น แม้ในการออกหมายจับดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผล
ตามเจตนารมณ์ของการออกหมายจับก็ตามแต่ยังต้องอยู่ภายใต้
หลักความจำเป็นกล่าวคือ เมื่อมีมาตรการทางปกครองดังกล่าวแล้ว
จะต้องมีการกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่มากก็น้อยดังนี้จะต้องใช้วิจารณญาณที่จะใช้มาตรการดังกล่าวที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชนน้อยที่สุด เห็นได้ว่า
           การออกหมายจับพระธัมมชโย ซึ่งกำลังอาพาธอย่างรุนแรงซึ่งไม่ถือเป็นการใช้มาตรการที่กระทบสิทธิและเสรีภาพน้อยที่สุดเพราะ  ยังสามารถ ให้เลื่อนการออกหมายเรียก ดังกล่าวไปได้อีก หรือ ให้ทางDSI เข้าพบพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกายซึ่งทางพระธัมมชโย มิได้ขัดข้องแต่ประการใด แต่ทั้งนี้การเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาจำเป็นต้องคำนึงถึงสุขภาพร่างกายของพระธัมมชโยด้วยว่าพร้อมหรือไม่ 
3.หลักความได้สัดส่วนอย่างแคบ กล่าวคือ แม้การออกหมายจับ
จะสัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของการออกหมายจับ และ มีความจำเป็น  ก็ตาม การที่มาตรการทางฝ่ายปกครองดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายจะต้องผ่านหลักความได้สัดส่วนอย่างแคบด้วยคือต้องพิจารณาว่าการออกหมายจับนี้ต้องมีประโยชน์ต่อมหาชนมากกว่าความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่เอกชน ในกรณีดังกล่าวนอกจากไม่เป็นการก่อประโยชน์ให้แก่มหาชนแล้วยังถือเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่มหาชนเพราะหากศาลออกหมายจับตามคำร้องของ DSI แล้วนั้นหมายความว่า
            เป็นการสร้างบรรทัดฐานในการใช้ดุลพินิจในการออกหมายจับโดยไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่าผู้ถูกออกหมายจับจะเจ็บป่วย หรือ มีเหตุอันตามข้อเท็จจริงใดควรจะได้รับการพิจารณาประกอบการใช้ดุลพินิจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกออกหมายเรียก อีกทั้งเป็นการออกมาตรการโดยไม่คำนึงสาระสำคัญแห่งสิทธิที่รัฐธรรมนูญ ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด 
ซึ่งประกอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเอกชนคือพระธัมมชโยด้วยแล้ว ทำให้มาตรการดังกล่าวไม่เข้าหลักความได้สัดส่วนอย่างแคบอันจะใช้บังคับไม่ได้ตาม มาตรา29ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี2550
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการออกหมายจับโดยคำร้องของ DSI นั้นขัดกับหลักความได้สัดส่วนในการออกกฎหรือคำสั่ง ตามมาตรา 29 รธน.50 ดังนี้

1.ขัดการหลักสัมฤทธิ์ผล คือ พระธัมมชโยไม่ได้หลบหนี หรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี แต่มาตามหมายเรียกไม่ได้เพราะป่วยอย่างรุนแรง ซึ่งเจตนารมณ์ของการออกหมายจับคือ ป้องกันไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี หรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี และไม่ได้มีพฤติการณ์ก่อเหตุร้ายประการอื่น 
ถือเป็นการใช้กฎหมายให้มีผลเป็นอย่างอื่นไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของการออกหมายจับ ตามมาตรา 66 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความอาญา 

2.ขัดกับหลักความจำเป็น คือ  ไม่จำเป็นต้องขอออกหมายจับ 
เพราะพระธัมมชโย ไม่ได้หนีและอาพาธอย่างรุนแรง ควรจะให้เลื่อนตามคำขอเลื่อน หรือเข้ามาพบพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกาย อันเป็นมาตรการที่กระทบสิทธิ และเสรีภาพในการดูแลรักษาร่างกายของพระธัมมชโย น้อยกว่าการออกหมายจับ

3.ขัดกับหลักความได้สัดส่วนอย่างแคบ คือ การขอออกหมายจับพระธัมมชโย จะต้องมีประโยชน์ต่อมหาชนมากกว่าความเสียหายต่อพระธัมมชโยจะได้รับ แต่กรณีตามข้อเท็จจริง การออกหมายจับพระธัมมชโยกลับเป็นการสร้างบรรทัดฐานการใช้กฎหมายที่ละเมิด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นสาระสำคัญแห่งสิทธิของรัฐธรรมนูญที่จะต้องรักษาไว้สูงสุด กล่าวคือ ประชาชนเมื่อมีข้อพิพาทกับองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐจะไม่ได้รับความคุ้มครองถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองนอกจากนี้ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา7/1 บัญญัติว่า ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรกและให้
ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย 
     (1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว 
     (2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน 
     (3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร 
     (4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย 
      ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้นทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิตามวรรคหนึ่ง
จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในกรณีที่มีการจับกุมแล้ว ตามมาตรา7/1(4) ยังยึดหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ให้ผู้ต้องหาได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ซึ่งเทียบเคียงกับ
กรณีของพระธัมมชโยที่ยังไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี แต่ไม่มีสิทธิ์ในการดูแลรักษาตัวเอง อันเป็นการออกหมายจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ...กรณีการออกหมายจับดังกล่าวจะต้องยึด
หลักความเสมอภาคอันเป็นสาระสำคัญแห่งสิทธิ ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ 
ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 กล่าวคือ...รัฐต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้เหมือนกันและจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่สาระสำคัญต่างกันให้แตกต่างกันออกไป 
ซึ่งในกรณีของพระธัมมชโย เป็นบุคคลที่กำลังอาพาธอย่างร้ายแรง ซึ่งตามปกติแล้วคนป่วยย่อมมีสิทธิที่ต้องได้รับการรักษาดูแลจนปกติก่อน ถึงจะเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมได้ ตามมาตรา7/1อนุ 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่ในกรณีพระธัมมชโย ซึ่งมีสาระสำคัญคือการป่วยเหมือนกันกับบุคคลอื่นๆ ทั่วไป แต่กลับได้รับการปฏิบัติในการออกหมายจับต่างกัน      
ดังนั้น DSI ต้องยกเลิกคำสั่งออกหมายเรียกพระธัมมชโย    มิฉะนั้น จะกลายเป็นว่า DSI ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดหลักรัฐธรรมนูญเสียเอง !!! 
           
 นี่คือบทสรุปของ คุณ ทันธรรม วงษ์ชื่น นักวิชาการอิสระด้านกฎหมายมหาชน  ยังบอกด้วยว่า บทความนี้เขาเรียบเรียงตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกประการฯ  


            " กฎหมาย และ กฎแห่งกรรม ความยุติธรรม ที่ต้องไปด้วยกัน "       จริงหรือไม่อย่างไร ???? “  

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

ฤาคนจะเลวเพราะคำคน

ฤาคนจะเลวเพราะคำคน

 เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสนั่งคุยกับเพื่อนที่เป็นคนคอเดียวกัน คือชอบอ่านสามก๊ก โดยทั่วไปเขาบอกคนที่อ่านสามก๊ก จบสามเที่ยว
คบไม่ได้ “เรา” หมายถึงผมและเพื่อนเลยอ่านซะกว่าสิบเที่ยวแล้ว ก็คงจะ
พอคบกันได้นะครับ ไม่เข้าตามกติกาที่เขาว่า ประเด็นสำคัญที่คุยกัน
ที่ค้างใจมานาน คือ เรื่องราวของตัวละครตัวหนึ่งคือ จิวยี่  ที่ข้องใจ
ผมมากคือ ทำไมจิวยี่ ถึงเป็นคนใจแคบ เป็นคนขี้อิจฉา เพื่อนก็เลยแนะนำ
ว่า อย่าไปอ่านแต่ตำราที่เราเรียนกันมา ลองอ่านหลายๆเล่ม เพราะ
เรื่องราวของสามก๊กนั้น มีที่มาหลายแห่ง ทั้งจากบันทึกประวัติศาสตร์
จากบันทึกปากคำของคน จากบทละคร จากนิทานพื้นบ้าน รวมทั้ง
แล้วแต่ยุคสมัยที่ผ่านไป ที่สำคัญผู้เขียนเรื่องราวนั้นมีอคติหรือไม่

 เมื่อได้รับคำชี้แนะจากท่านเพื่อนเช่นนั้น ใยข้าพเจ้าจักนิ่งเฉย
ว่าแล้วก็หาข้อมูลจากหลายที่หลายแห่ง จนได้ข้อมูลที่น่าตกใจว่า จาก
บันทึกหลายแห่ง มีข้อมูลที่ตรงกันว่า
 - จิวยี่ เป็นชายหนุ่มรูปงาม ขนาดที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่าสุดหล่อ
 - มีภรรยาสุดสวยในยุคนั้นคือ นางเสียวเกี้ยว
 - เมื่ออายุได้ 24 ปี เป็นแม่ทัพ ในก๊กที่เข้มแข็ง
 - เป็นคนที่มีบุคลิกดี สง่า มีบุคลิกผู้นำ

 เอาหละสิ จิวยี่ ที่เรารู้จักกับจิวยี่ที่นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่รู้จัก กลาย
เป็นคนละภาพกันแล้ว  จากประโยคที่เราคุ้นเคยว่า “ฟ้าให้จิวยี่มาเกิดแล้ว ใยต้องให้จูกัดเหลียง(ขงเบ้ง)มาเกิดด้วย” รวมทั้งหลายเรื่องทำให้เรามองว่า
จิวยี่คือ คนขี้อิจฉา ใจแคบ ถามว่า ภาพนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นักประวัติศาสตร์
ตอบได้ชัดว่า ภาพนี้เกิดจากละคร ทำไมว่าอย่างนั้น ก็พวกที่เอาเรื่องนี้ไปเล่น
เป็นละคร มักจะจับให้ขงเบ้งเป็นพระเอก และต้องให้เลอเลิศด้วย เลยต้องหา
ตัวอิจฉามา เลยกลายเป็นจิวยี่ต้องมารับบทนี้เต็มๆ ผู้ที่ค้นคว้าเรื่องนี้ เขาบอก
ว่า แท้จริงแล้วเมื่อศึกษามากเข้า กลายเป็นว่า จิวยี่เป็นคนที่ใจกว้าง มีความ
ภักดี มีสัมมาคารวะ หากย้อนไปดูข้างต้นข้อความ บุคคลที่พร้อมขนาดนั้น
จะมีเหตุอะไรต้องให้ไปอิจฉาคนอื่น

 เมื่อดูหนังดูละครแล้วก็ย้อนมาดูเหตุการณ์ในบ้านเราบ้าง ก่อนที่ผม
จะรู้จักวัดพระธรรมกาย ผมก็ได้รับข้อมูลข่าวสารของทางวัดจากหลายทาง
แน่นอนครับ มีแต่ข้อมูลลบ สารพัดเรื่อง จนแทบหาความดีไม่เจอ แต่ด้วย
ความที่เป็นคนขี้สงสัย เหมือนที่ผมสงสัยเรื่องจิวยี่นี่แหละ เลยต้องค้นหา
ความจริง ผมตั้งโจทย์ว่า วัดโดนข้อหาอะไรบ้าง แล้วก็เข้ามาเจาะหาแต่ละ
ประเด็นๆ ในที่สุด ได้คำตอบทุกประเด็น รู้ไหมครับ ประเด็นแรกคืออะไร
เขาบอกวัดนี้ต้อนรับแต่คนรวย  ผมนี่แหละครับ ที่มาวัดแล้วทำบุญแค่
สิบบาท เขียนสิบบุญ บุญละบาท คนที่เขียนใบอนุโมทนาบัตรให้ เขาเขียน
ด้วยความเต็มใจ ก่อนส่งให้ผม เขาก็อนุโมทนาบุญด้วย แล้วรู้ไหมครับ ผม
ทานข้าวที่วัดมื้อเช้า มื้อกลางวัน บ่าย ๆ ดื่มน้ำหวานของวัดด้วย เกินสิบบาท
ที่ผมทำบุญซะกี่เท่า ประเด็นต่อมา ที่บอกว่าใต้ถุนโบสถ์เก็บอาวุธ ผมก็ลงทุน
สมัครเป็นอาสาสมัคร จนในที่สุดเป็นคนเก็บกุญแจโบสถ์ แล้วก็เลยเจอว่า
ใต้ถุนโบสถ์เต็มไปด้วยธรรมาวุธ คือ เสื่อ อาสนะ พรมแดง เอาไว้ปูเวลามีงาน
ผมใช้เวลาพอสมควรในการตอบปัญหาแต่ละประเด็น จนในที่สุดก็กลาย
เป็นว่า ผมได้พบภาพที่แท้จริงเหมือนที่ผมได้ทราบว่า แท้จริงแล้ว จิวยี่ เป็น
คนเช่นไร

 แล้วท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่มองว่าวัดพระธรรมกายเป็นภัย
ต่อความมั่นคง จะไม่ลองมาค้นคว้าหาข้อมูล เอาข้อแท้จริงบ้างหรือครับ อย่ารับข้อมูลด้านเดียวจากสื่อหรือคนที่ไม่ชอบวัด เพราะหากคนที่มีอคติ ต่อให้ทำดีเท่าไร ก็ผิดในสายตาของเขาอยู่ดี เข้ามาพิสูจน์ด้วยตัวเองเลย จะได้
เข้าใจว่าคำพูดของคนที่มีอคตินั้นสามารถพลิกคนดีให้เป็นคนเลวได้
เผื่อท่านจะได้เห็นว่า แท้จริงแล้ว จิวยี่ เป็นหนุ่มรูปงาม ใจกว้าง ไม่ขี้อิจฉาเหมือน
คนที่พวกท่านรู้จักหรอกครับ

เด็กวัดตัวจริง

โลกของการติ โลกของการสร้าง

โลกของการติ โลกของการสร้าง

จากโลกของกระดาษ สู่โลกบนอากาศ ใครจะชั่วจะดีอยู่ที่มือคน แล้วจะทำอย่างไร
ใครจะช่วยยุติ ช่วยเปลี่ยนโลกของการติสู่โลกของการสร้าง
จากที่สมัยก่อนโลกของกระดาษ หนังสือพิมพ์มีความสำคัญเพราะเข้าถึงผู้รับสารได้ง่าย แต่เมื่อถึงยุคการสื่อสารไร้พรมแดนในปัจจุบัน มือถือ หรือแท็บเล็ต กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อคนจำนวนมากซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ห้าก็ว่าได้ที่ทุกคนจำเป็นต้องมี จากสมัยก่อนที่เห็นคนที่นั่งรอรถหน้าป้ายรถเมล์หรือรถไฟ อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง การ์ตูนขายหัวเราะบ้าง แต่ตอนนี้กลับเห็นแต่คนก้มหน้าก้มตาเลื่อนนิ้วโป้งขึ้นลงเช็คไลน์ หรือเฟสบุ๊ค โดยไม่สนใจคนรอบข้างว่าเป็นอย่างไร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ข้อมูลทั้งดีและเสียได้ส่งถึงมือคนได้อย่างรวดเร็ว และไม่น่าแปลกใจว่ายอดคนไทยทั้งประเทศตอนนี้เล่นเฟสบุ๊คกว่า 40 ล้านคนแล้วซึ่งมากกว่าครึ่งประเทศ และอัตราการไลน์ก็เป็นอันดับเป็นที่สองของโลกรองจากญี่ปุ่นคือ 33 ล้าน และเชื่อเลยว่ายอดต้องเพิ่มขึ้นทุกปี  จากข่าวล่าสุดที่ชาวเน็ตแชร์ว่อนในโลกออนไลน์ขณะนี้ คือคลิปของอาจารย์เฉลิมชัยที่ออกมาโต้ผ่านสื่อที่ทนไม่ได้กับคำติเตียนกล่าวหาว่าท่านเป็น “พุทธพาณิชย์ มีเงิน ซื้อวัดได้” ซึ่งจากตรงนี้อาจารย์เองออกมาให้เหตุผลชัดว่าการสร้างวัดร่องขุนนี้ได้ตั้งใจสร้างขึ้นเป็นมรดกของชาติและมาจากเงินส่วนตัวล้วน ๆ ไม่เคยรับเงินจากใครหรือรัฐบาลใด จนมีผู้คนต่างออกมาให้กำลังใจในการทำงานของอาจารย์กันยกใหญ่ ซึ่งอาจารย์ก็ให้ข้อคิดเตือนสติคนไทย โดยเฉพาะคนไทยที่เก่งเฉพาะเรื่องติในเรื่องไม่สร้างสรรค์ทั้งหลาย จากตรงนี้บ่งชี้ว่าคนไทยที่มีมือถือและกำลังก้มหน้าก้มตาดูเรื่องของคนอื่นอยู่นี้ เก่งเฉพาะเรื่องติที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่มุ่งจับผิดมุ่งโทษให้คนดีทั้งหลายเสียความศรัทธาและมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี โดยขาดวิจารณญาณในการพิจารณาหลักฐานความจริง ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องที่ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ โดยมุ่งเฉพาะข่าวเบื้องหน้าที่สื่อออกมาประโคมพาดหัวข่าวเท่านั้น โดยหารู้ไม่ว่าสื่อบางสื่อในปัจจุบันก็ขาดจรรยาบรรณ ใช้คำไม่เหมาะสม และพาดหัวข่าวโน้มน้าวเกินจริงกันเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดเจ้าพระคุณสมเด็จวัดปากน้ำก็ตกเป็นเครื่องมือจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี สร้างเรื่องให้ท่านเสียพระเกียรติ และเมื่อสุดท้ายสรุปว่าท่านไม่ใช่คนผิด แต่ข่าวที่สื่อออกมาก่อนหน้านี้โจมตีว่าท่านผิดในทุกขั้นตอน แต่เวลาความจริงเปิดเผย มีสำนักข่าวไหนบ้างมากราบเท้าขอโทษท่านและออกข่าวสรรเสริญให้พระเกียรติท่านกลับมาเหมือนเดิม สังคมสื่อสารตอนนี้จึงมีความจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้วิจารณญาณกันมากขึ้น เพราะทุกคนเป็นเหมือนนักข่าวออนไลน์ คิดอะไร อยากบอก อยากแสดงความคิดเห็นอะไรก็โพสต์ลงไป คนก็เข้าไปอ่านและแสดงความเห็นแตกต่างกันกันไป สถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศเรามีความแตกแยก ขาดความสามัคคี เพราะเกิดจากสังคมที่เห็นแก่ตัวไม่คำนึงถึงความรู้สึกคนอื่น ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราจะร่วมสร้างสังคมนี้ให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างความรัก สามัคคีปรองดอง เอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นสังคมที่ส่งเสริมคนดี เมื่อสังคมดี เศรษฐกิจกิจก็จะดีไปด้วย ประเทศจะเดินไปข้างหน้า โลกของการติจะหมดไปมีแต่ โลกของการสร้างแต่สิ่งที่ดีกลับคืนมา
ไทธรรมรักษ์

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

ขวางพระบิณฑบาต หนทางสู่อเวจี


ขวางพระบิณฑบาต หนทางสู่อเวจี
จากเหตุการณ์เมื่อวานนี้(วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์) พบว่าผู้ต่อต้านพิธีตักบาตรที่จังหวัดระยองซึ่งมีผู้มาร่วมตักบาตรกว่า 10,000 คน แต่มีผู้คัดค้านการตักบาตรเพียง 10 คน ทำให้ข้าพเจ้าอดนึกไม่ได้ว่า ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์คล้าย ๆ อย่างนี้เกิดขึ้นด้วยเหมือนกับพระเจ้าสุปปพุทธะ
พระเจ้าสุปปพุทธะเป็นกษัตริย์โกลิยะวงศ์เป็นพระราชบิดาของพระเทวทัต เมื่อทราบว่าพระเทวทัตถูกธรณีสูบ ลงมหาอเวจีนรกก็มิสำนึกในบาปบุญคุณโทษ กลับมีจิตอาฆาตพยาบาทพระพุทธองค์ เพราะนอกจากจะทำให้พระเทวทัตต้องธรณีสูบ พระพุทธองค์ยังทำให้เจ้าหญิงยโสธราธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะเป็นหม้าย จึงกลั่นแกล้งพุทธองค์ด้วยการเกณฑ์อำมาตย์ข้าราชบริพารไปนั่งเสพเมรัยขวางทางที่พระพุทธองค์จะออกบิณฑบาตโปรดเวไนยสัตว์ซึ่งทางนั้นมีเพียงทางเดียวเท่านั้นที่พระพุทธองค์จะทรงเสด็จดำเนินไปได้ เมื่อเสด็จดำเนินผ่านไม่ได้เพราะพระเจ้าสุปปพุทธะกับบริวารขวางอยู่วันนั้น พระพุทธองค์ทรงอดพระกระยาหาร ๑ วัน พระอานนท์จึงทูลถามอยากจะทราบโทษของพระเจ้าสุปปพุทธะ พระพุทธองค์จึงทรงได้มีพุทธฎีกาตรัสว่า “ อานันทะดูก่อนอานนท์ หลังจากนี้ไปนับได้ ๗ วัน พระเจ้าสุปปพุทธะจะลงอเวจีตามเทวทัตไป ”
เมื่อบริวารของพระเจ้าสุปปพุทธะกลับไปถวายรายงาน พระเจ้าสุปปพุทธะก็มีจิตต้องการให้พุทธฎีกาของพระพุทธองค์มิเป็นความจริง จึงขึ้นประทับ ณ ปราสาท ๗ ชั้น แต่ละชั้นมีนายทวารป้องกันแข็งขัน ทรงตรัสกับนายทวารที่มีร่างกายกำยำนั้นว่า “ ในระหว่าง ๗ วันนี้ ถ้าฉันลงมาละก็ พวกเธอจงขัดขวางเอาไว้ไม่มีใครทำโทษ ” โดยประกาศต่ออำมาตย์ ข้าราชบริพาร และพระบรมวงศานุวงศ์ไว้ดังนั้น เพื่อมิให้นาทวารทั้งหลายต้องโทษ
๗ วันนั้นปรากฏว่า ม้าแก้ว ซึ่งเป็นม้าทรงศึกที่พระเจ้าสุปปพุทธะโปรดปราน อาละวาดกระทืบโรง ร้องเสียงดังมาก พระเจ้าสุปปพุทธะเกิดเป็นห่วงม้า ด้วยอาการขาดสติจึงทรงลงจากปราสาทชั้น ๗ แต่ด้วยวิบากกรรมปรากฏว่านายทวารมิได้ขัดขวาง กลับผลักหลังส่งอีกด้วยคิดว่าเลยครบกำหนด ๗ วันแล้ว พอพระเจ้าสุปปพุทธะย่างพระบาทเหยียบแผ่นดิน ก็ถูกพระธรณีสูบหายไปสู่มหานรกอเวจี ตรงตามพุทธะฎีกาที่ตรัสไว้แก่พระอานนท์
ดังนั้นการขวางทางพระไม่ให้บิณฑบาตคือขัดขวางหนทางพระนิพพานของตนเองและผู้อื่นเป็นกรรมหนัก
พิณสายกลาง